วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

Review ภาพยนต์เรื่อง Deadpool (2016)









 Deadpool (2016)

ต้องขอบคุณคลิปหลุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2014 จริง ๆ ที่ทำให้โปรเจ็คต์นี้ได้งบทำต่อจนเสร็จ อย่างไรก็ตาม Deadpool ฉบับนี้ก็ดูจะเป็นหนังคอเมดี้เรท R มากกว่าจะนับว่าเป็นหนัง Superhero ทุนต่ำ (โปรดักชั่นในหนังมันดู low budget ยิ่งกว่างบ 58 ล้านอีก) และตัว deadpool เองก็บอกว่าเขาไม่ใช่ hero แต่เป็นเพียง super mutant หรือมนุษย์กลายพันธุ์ที่มีพลังวิเศษ และภารกิจในหนังภาคนี้ก็คือการตามทวงแค้นเอาใบหน้าสุดหล่อคืนกับช่วยแฟนสาวเท่านั้นเอง
.
หนังเล่าถึง 'เวด วิลสัน' (Ryan Reynolds) อดีตทหารรับจ้างที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาตัดสินใจทำการทดลองบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นเซลล์การกลายพันธุ์จนสามารถฟื้นฟูบาดแผลได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะใส่ชุด Deadpool ออกตามล่า 'ฟรานซิส' (Ed Skrein) ที่ทำให้หน้าเขาเสียโฉม
.
ลองสมมุติว่าการตลาดโปรโมท Deadpool มันเกรียนได้ระดับ 10 คะแนน เราว่าหนังจริงเกรียนออกมาได้ประมาณครึ่งเดียวเอง มุกความกวนส่วนใหญ่ถ้าไม่เรื่องใต้สะดือก็จะเป็นการเอาไฮไลท์ของหนังดังเรื่องอื่นมาให้ตัวละคร Deadpool พูดจากวน ๆ เรียกเสียงหัวเราะ ไม่ได้จำกัดแค่การกวนหนัง superhero ด้วยนะ ซึ่งเท่ากับว่ามุกตลกในหนังเรียกร้องให้ผู้ชมรู้จักหนังดังหลายเรื่องอยู่เหมือนกันถึงจะเก๊ท โดยเฉพาะพวก quote ดังจากหนังฮอลลีวูดหลายเรื่องเช่น Godfather, Dredd, Notting Hill นอกนั้นก็เป็นการล้อเลียนหนัง superhero ด้วยกันเอง ซึ่งแน่นอนว่า X-Men ดูจะโดนล้อหนักหน่อยรวมถึง Green Lantern ที่ไรอัน เรย์โนลด์เคยแสดงด้วยน่ะแหละ (ส่วนตัวค่อนข้างชอบการจิกกัดล้อเลียน X-Men และ Wolverine นะ เข้าเป้าทุกเม็ดดี)
.
เส้นเรื่องของหนังเองก็แบ่งเป็นการเล่า 2 timeline คือจุดกำเนิด Deadpool และหลังจากเป็น Deadpool ซึ่งในช่วงจุดกำเนิดนั้นมีหลายช่วงน่าเบื่อด้วยความที่หนังมันลดระดับความกวนลงไปและเล่าได้ไม่ค่อยสนุกเท่าไรเมื่อเทียบกับหลังจากเป็น Deadpool ที่แม้ภารกิจของภาคนี้จะมีองก์ของฉากแอ็คชั่นแค่ที่ยิงถล่มกันบนทางด่วนและฉากปิดหนังแต่ก็ขายงานแอ็คชั่นได้งามกำลังดี ดีสำหรับการเป็นหนังคอเมดี้เรท R น่ะแหละ ไม่ต้องไปเทียบความยิ่งใหญ่กับหนัง superhero สเกลงบใหญ่โตหรอก
.
โดยรวมแล้วถ้ามอง Deadpool เป็นหนังคอเมดี้ก็ถือว่ามันก็พยายามกวนคนดูตั้งแต่นาทีแรกจนจบ คือขยันยิงมุกเข้าเป้าบ้างแป้กบ้างเก๊ทบ้างไม่เก๊ทบ้างยาว ๆ ตลอดเรื่อง ซึ่งแม้จะไม่มีมุกที่ทำให้เราหัวเราะก๊ากแต่ได้หัวเราะเบา ๆ หรืออมยิ้มก็รู้สึกว่าพอโอเคแล้วแหละ ที่สำคัญคือห้ามพลาด end credits เด็ดขาด นั่งรอยาว ๆ ได้เลยครับ คุ้มค่าแน่นอน กวนส่งท้ายได้น่ารักจริง ๆ

Director: Tim Miller
screenplay: Rhett Reese, Paul Wernick (เขียนบท Zombieland, G.I. Joe: Retaliation)

Genre: action, comedy, fantasy
7/10

10 ผีประจำโรงหนัง รวมพฤติกรรมยอดแย่จากเพื่อนร่วมโรงหนัง



ถ้าคุณเคยพบผีโรงหนังเหล่านี้ เรายินดีที่คุณจะมาร่วมแชร์ประสบการณ์นะครับ


1 | ผีเล่นมือถือ
จัดเป็นผียอดฮิตประจำพ.ศ.นี้เลยก็ว่าได้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเสียเงินซื้อตั๋วเพื่อมาแชทในโรงหนังทำไม หรือถ้าไม่อยากดูจริง ๆ ก็หลับไปเถอะ ล่าสุดที่ดู Star Wars รอบพิเศษก่อนฉายจริง ซึ่งมันควรจะเป็นรอบที่รวมคนโคตรจะอยากดูหนังเรื่องนี้ เรายังเจอผีนั่งแชทมือถือเฉยเลย โชคดีว่ามีคนสะกิดถามเขาว่า "หนังไม่สนุกหรอครับ" เขาเลยเก็บมือถือไป

ต้องเข้าใจกันนิดนึงว่าเวลาเล่นมือถือในโรงหนังเนี่ย แสงจากหน้าจอมันแยงตาเบาะข้างหลัง ต่อให้คุณปรับไฟหน้าจอต่ำสุดมันก็น่ารำคาญครับ มือถือจอไม่ใช่เล็ก ๆ ด้วย บางคนอาจจะอ้างว่าธุระสำคัญบลาๆ เราก็ไม่รู้จะไปต่อยังไงเลย งั้นคราวหน้าช่วยซื้อที่นั่งโซฟาแถวบนสุดแล้วจะเล่นยังไงก็ตามใจเลยละกัน

วิธีกำจัดผีเล่นมือถือในโรงหนังเบื้องต้นคือเตือนครับ เตือนดี ๆ พูดเพราะ ๆ นะไม่ต้องไปใส่อารมณ์ อาจจะประมาณว่า "รบกวนปิดมือถือได้ไหมครับ" ถ้ายังไม่หยุดอีกค่อยว่ากันใหม่ มีวิธีนึงอยากลองมานานละคือเจอใครแชทในโรงก็เปิดแอปไฟฉายส่องไปเลย ฮ่าๆๆ ว่าแต่ทุกท่านมีวิธีไหนกำจัดผีเล่นมือถือ หรือใครเคยเจอประสบการณ์นี้มาแชร์กันได้เลยครับ


2 | ผีถีบเบาะ
อันนี้เราเข้าใจฟีลคนถีบเบาะครั้งสองครั้งนะ คือโรงหนังเดี๋ยวนี้ช่องไฟแค้บแคบ แคบแบบกระดิกตัวไม่ได้เลย ดูหนังสองชั่วโมงก็มีเมื่อยต้องเปลี่ยนท่านั่งบ้างเป็นเรื่องปกติ บางทีเวลาเปลี่ยนท่าอาจจะมีไปสะกิดโดนเบาะข้างหน้าก็ขออภัย แต่ไอ้ประเภทถีบเบาะทั้งเรื่องเนี่ยมันยังไงกันครัช ส่วนตัวผมไม่เคยเจอผีถีบเบาะเลยไม่มีประสบการณ์มาเล่า แต่เข้าใจว่าคงเหมือนดูหนัง 4DX กันเลยทีเดียว ใครเคยเจอก็มาแชร์กันหน่อยครับว่าโดนถีบยังไง แล้วจัดการกันยังไง


3 | ผีกินของเหม็น, ผีน้ำหอมฉุน, ผีตีนเหม็น
เคสนี้ประสาทรับกลิ่นล้วน ๆ ผมนี่เคยเจอคนกินปลาหมึกในโรงหนังกับคนฉีดน้ำหอมโคตรฉุนจนต้องเขยิบที่นั่งหนีมาแล้ว พูดถึงของกินกลิ่นแรง ๆ ทั้งหลายถ้าเป็นไปได้ช่วยละเว้นกันเถอะครับ ปลาหมึกอะไรสักอย่างไม่แน่ใจว่าโรงหนังขายหรือเอาเข้ามาเองแต่กลิ่นแรงมาก กว่าจะกินหมดก็นานอยู่เหมือนกัน กับใครที่ชอบฉีดน้ำหอมเอาแค่ฉีดผ่าน ๆ ก็พอครับไม่ต้องถึงขั้นอาบมา เวลานั่งในโรงหนังมันฉุนจมูกคนอื่นมากครับ

วิธีจัดการผีประเภทนี้ไม่รู้จะทำยังไง ใครมีไอเดียแนะนำด้วยครับ


4 | ผีเนียนนั่งผิดที่
ผีเนียนนั่งผิดที่ต้องแบ่งเป็นหลาย subset เช่นซื้อตั๋วล่างแต่มานั่งแถวบนเพราะนึกว่าไม่มีใครนั่ง ผีพวกนี้คือไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง กับอีกอันนึงคือนับเลขผิดไป 1 ที่นั่ง อันนี้พออนุโลมกันได้แค่เขยิบก็จบ แต่ขอเล่าหน่อยเถอะ เพิ่งเจอล่าสุดตอนดู Iris เจอผีนั่งผิดที่ ทีนี้พอหนังฉายไปนิดนึงเจ้าของที่ตัวจริงเขาก็มา อีผีนั่งผิดที่ไปโวยใส่เจ้าของที่นั่งว่าเข้าโรงช้าแล้ววุ่นวาย คือเขาวุ่นวายก็เพราะเอ็งนั่งผิดที่จนเขาไม่มีที่นั่งน่ะแหละห่า

ผีประเภทนี้น่าจะกำจัดง่ายสุดแล้วมั้ง เพราะถ้าเราเป็นเจ้าของที่ตัวจริงก็แค่ถามเขาดี ๆ ให้เขารู้ตัวว่านั่งผิดที่ก็พอ แต่เชื่อว่าต้องมีคนเคยเจอผีนั่งผิดที่แล้วหน้าด้านไม่ลุกเพราะจะเล่าเรื่องของน้องที่รู้จักให้ฟังสักนิดว่า น้องผมเจอผีนั่งผิดที่เนี่ยแหละ พอถามดี ๆ พี่แกบอกว่าหนังฉายแล้วนั่ง ๆ ไปเถอะ ไอ้ชิบหาย มีใครเคยเจอหนักกว่านี้ไหมเล่ามาได้เลย


5 | ผีเข้าผีออก
จะเรียกว่าผีเข้าห้องน้ำบ่อยหรือผีธุระเยอะก็ได้ ปัญหาของผีประเภทนี้คือชอบนั่งตรงกลาง!! แล้วไม่รู้จะขยันเดินเข้าเดินออกอะไรหลายรอบ ไปห้องน้ำรอบนึงอันนี้พอเข้าใจ แต่ถ้าไปบ่อยแนะนำนั่งเบาะริม ๆ ไปเลยไม่ต้องเข้ามา เวลาเดินเข้าออกมันทั้งบังคนข้างหลัง ทั้งเกะกะคนในแถวที่ต้องคอยหลบให้ จริง ๆ เป็นผีประเภทที่เจอไม่ค่อยบ่อย ส่วนมากก็เข้าออกครั้งเดียวซึ่งเราไม่ได้ซีเรียสอะไรอยู่แล้ว มีครั้งนึงที่เจอแล้วรู้สึกรำคาญคือตอนเจอแก๊งนักเรียนเข้าออกต้องชวนเพื่อนไปด้วยเนี่ย ตอนเดินเข้าออกจึงมีเสียงคุยนู่นนี่ประกอบด้วย


6 | ผีวิจารณ์ช่างเม้าท์
ตั้งแต่ดูหนังในโรงมาเคยเจอผีวิจารณ์ช่างเม้าท์ครั้งเดียว แล้วเชื่อไหมว่าครั้งเดียวที่เจอคือหนังรอบพิเศษที่จัดฉายเฉพาะนักวิจารณ์และสื่อมวลชน ห่ารากป่ะล่ะ ฮ่าๆๆๆ รอบที่ควรจะเป็นการรวมคนมีมารยาทในการดูหนังที่สุดดันเจอพฤติกรรมแย่ที่สุด แล้ววันนั้นมีต่อยกันในโรงด้วย (The Rover รอบนักวิจารณ์) 

อันนี้เราผิดเองที่ไม่ได้เตือนเขาทั้งที่นั่งติดกัน ดันกลายเป็นเราต้องพยายามมีสมาธิไม่สนใจที่เขาคอยคุยกันตลอดทั้งเรื่อง นี่ถ้าเจออีกคงเตือน ถ้ายังไม่หยุดจะรอหนังจบแล้วเอาเลขที่นั่งไปถามคนจัดงานว่าใครนั่งแล้วเอามาประจานซะเลย ใครเคยเจอผีวิจารณ์ช่างเม้าท์ขอเชิญมาแชร์ประสบการณ์หน่อยครับ คิดว่าน่าจะเยอะ


7 | ผีบัง
อันนี้ขำ ๆ อย่าซีเรียส ใครเคยไปดูโรงที่สโลปความสูงแต่ละแถวมันติดกัน เช่นลิโด้ น่าจะเข้าใจฟีลเวลาเจอคนตัวสูงนั่งข้างหน้าเพราะหัวเขาจะบังซับมิดเลย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของคนเกิดมาตัวสูงด้วยนะ ไม่รู้ที่เราเห็นคนดูหนังโรงลิโด้ชอบจองแถวกลางแทนที่จะเป็นแถวบนเพราะแบบนี้หรือเปล่า ฮ่าๆๆๆ ทางแก้เบื้องต้นจึงต้องดูหนังแบบสลับฟันปลา นั่งตัวตรงดูตรงร่องกลางระหว่างที่นั่งน่ะแหละ หรือไม่งั้นก็จองแถวล่าง ๆ ลงมาหน่อยเพื่อไม่ให้เจอคนบังเนอะ


8 | ผีถ่าย vdo
  ที่บอกว่าอยากให้มีปุ่มกดเรียกพนักงานก็เพราะเราเคยเจอผีถ่าย vdo เนี่ยแหละ ครั้งแรกที่เจอคือ Interstellar โรง IMAX พี่แกเหมือนจะเตรียมข้อมูลมาดีว่าช็อตไหนจะโชว์พลังฟิล์ม 70mm อันนี้ไม่รู้ว่าถ่ายไปทำอะไร แต่เดาว่าไม่ใช่พวกหนังซูมหรอก เวลาเจอพวกแบบนี้เราเองก็ไม่อยากเสียเวลาลุกไปเรียกพนักงานซึ่งก็จะทำให้เราขาดความต่อเนื่องในการดูหนัง แล้วเราก็ไม่ใช่สายกล้าสะกิดเตือนคนอื่นด้วย เนี่ยก็จะพยายามเริ่ม ๆ กล้าเตือนละ เพราะคิดว่ามันคงเป็นทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบที่เขาพิสูจน์กันมาแล้วว่ายิ่งคนอยู่เยอะเรายิ่งคิดว่าเดี๋ยวคนอื่นก็จัดการเอง สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไร


9 | ผีเข้าตัวสั่น
ที่เขารณรงค์กันแทบตายว่าให้ปิดมือถือดูหนังน่ะ เขาหมายถึงปิดเสียงปิดสั่นเลยนะครับแหม่ ที่เคยเจออยู่บ่อย ๆ คือปิดเสียงอย่างเดียวไม่ปิดสั่น พอมีสายเข้าก็สั่นเป็นเจ้าเข้าเลย แล้วบางคนไม่คิดจะหยิบมาปิดด้วยนะ ปล่อยมันสั่นอยู่แบบนั้นจนสายหลุดไปเอง คือถ้ามันสั่นแล้วแนะนำว่ารีบหยิบมาปิดสั่นเถอะนะครับ เคสนี้จะต่างจากผีริงโทนนิดนึงคือพอเป็นริงโทนเนี่ยเขาจะรีบปิดเสียงทันทีเพราะรู้ตัวว่าเสียงดัง แต่พอเป็นสั่นเนี่ยส่วนใหญ่จะปล่อยมันสั่นอย่างนั้นเพราะไม่รู้ตัวว่ามันสั่นไปทั้งแถวเลยครับแหม่


10 | ผีเด็ก
ประเภทสุดท้ายคือผีเด็ก ส่วนตัวผมไม่ซีเรียสกับผีเด็กถ้าอยู่ในโรงฉายหนังประเภทแอนิเมชั่นคอเมดี้สำหรับเด็กเพราะถือเป็นบรรยากาศอย่างนึงที่เราเลือกและยอมรับความเสี่ยงที่จะเจออยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นหนังทั่วไปแล้วเจอเคสพาเด็กไปดูเนี่ยสิ ที่เคยเจอคือดู Cinderella รอบพิเศษปีนี้เนี่ยแหละ พ่อแม่คู่นึงเขาพาลูกสาวมาดูด้วย แต่ปรากฎว่าลูกสาวน่าจะไม่ปลื้มหนังสักเท่าไร ตอนแรกก็แค่คอยถามนู่นนี่ พ่อแม่ก็คอยตอบคอยเตือนให้นั่งดูเงียบ ๆ สุดท้ายไม่รู้เด็กน้อยเป็นอะไรโวยวายจนผู้ปกครองต้องพาออกจากโรง คือเราก็เข้าใจนะว่าพ่อแม่หลายคนก็อยากดูหนังแล้วไม่รู้จะเอาลูกไปฝากเลี้ยงไว้ที่ไหน แต่ก็ช่วยเห็นใจเด็กบ้างว่าเขาไม่ได้อยากดูหนัง พอพามาดูก็เฟลกันหมดทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กทั้งคนดูในโรง ฝากไว้ให้พิจารณาในการพาลูกเข้าโรงหนังด้วยละกันนะครับ

Review ภาพยนต์เรื่อง The Danish Girl (2015)



The Danish Girl (2015)
เราชอบที่หนังถ่ายทอดสภาวะในจิตใจของคนข้ามเพศ (ภาษาอังกฤษใช้ว่า transgender) ออกมาจับความรู้สึกของเรา มันดูเป็นหนังที่หยิบเอา inside ของคนข้ามเพศมาเล่าถึงความสับสนของเพศสภาพใจเป็นหญิงกายเป็นชายคล้ายคนสองบุคลิก ซึ่งด้วยสถานะทางสังคมทำให้เขาต้องพยายามปลุกบุคลิกเพศชายขึ้นมาข่มเพศหญิงตลอด แต่ทั้งนี้คนที่มีตัวตนเป็นหญิงมาตลอดยังไงสักวันก็ต้องได้รับการปลดปล่อยบุคลิกแท้จริงออกมา
.
หนังเล่าถึงเส้นทางการผ่าตัดแปลงเพศของ 'ไอนาร์/ลิลี่' (Eddie Redmayne) ทั้ง ๆ ที่เขามี 'เกอร์ด้า' (Alicia Vikander) เป็นภรรยาอยู่แล้ว
.
ความยาวสองชั่วโมงของหนังอาจจะดูยาวไปสักหน่อยเมื่อมองดูการเล่าเรื่องที่มีความเชื่องช้าในหลายจังหวะ ตัวบทหนังค่อนข้างเรียบไม่ได้หวือหวาอะไรตามสไตล์งานของทอม ฮูเปอร์ (The King's Speech, Les Miserables) ที่ดูจะเน้นสื่อสารด้านอารมณ์ระหว่างตัวละครกับคนดูมากกว่า ซึ่งมันก็ได้ผลเพราะหนังถ่ายทอดจิตใจของคนข้ามเพศได้จับความรู้สึกของเราเป็นอย่างดี
.
เราชอบที่เขาอธิบายเรื่องคนข้ามเพศออกมาได้ชวนเห็นภาพ เป็นเรื่องของคนที่คล้ายมีสองบุคลิกอยู่ในตัว มีความสับสนทางเพศ อาจจะเคยปล่อยด้านเพศหญิงออกมาแต่ด้วยสภาพสังคมที่ไม่ยอมรับทำให้ความเป็นชายตามเพศสภาพนั้นถูกแสดงออกมาโดยขังด้านหญิงเอาไว้ยาวนาน ซึ่งพอมีโอกาสได้เปิดเผยด้านดังกล่าวจึงเริ่มค่อย ๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นเพศหญิงที่อาศัยอยู่ร่างกายของผู้ชาย
.
ชอบอีกอย่างคือหนังเลือกจะโฟกัสที่การเปลี่ยนแปลงจากชายเป็นหญิงเพียงอย่างเดียว โดยเสริมด้วยเรื่องความรักของเกอร์ด้าที่มีต่อสามีของเธอ ไม่ว่าเขาจะแสดงออกด้านไอนาร์หรือลิลี่ เธอก็ยังคงปฏิบัติดูแลเขาเป็นอย่างดี หนังได้การแสดงที่ยอดเยี่ยมของอลิเซีย วิแกนเดอร์ ในการช่วยบอกเล่าความรู้สึกที่หลากหลายของตัวละครดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยความสับสนที่เห็นคนรักเปลี่ยนแปลงไป (ที่เข้าชิงออสการ์สมทบหญิง ผมดูไป 4 คนแล้วเหลือแค่รูนี่ย์ มาร่าใน Carol ตอนนี้ยกให้อลิเซียเต็งหนึ่งเลย)
.
การที่หนังเลือกโฟกัสจุดหลักเพียงอย่างเดียวทำให้เราแทบจะไม่เห็นการเทน้ำหนักเรื่องไม่ได้รับการยอมรับในสังคมยุคที่คนข้ามเพศถูกมองเป็นพวกกามวิปริตหรืออาการป่วยทางจิตร้ายแรง ซึ่งเราค่อนข้างโอเคที่หนังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสายตาคนนอกขนาดนั้น เพราะการโฟกัสที่ความเปลี่ยนแปลงมันช่วยให้เราอินในส่วนของ inside ตัวตนคนข้ามเพศ ซึ่งเราไม่ได้อยากเห็นมุม outside ที่เป็นเรื่องการอยู่ในสังคม
.
พูดถึงการแสดงของเอ็ดดี้ เรดเมย์นสักนิดว่าเล่นดีคู่ควรกับการมีชื่อเข้าชิงออสการ์การแสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายชาย ชอบจริตจะก้านเวลาเขาแสดงออกด้านเพศหญิงออกมา เชื่อว่าเขามีจิตใจผู้หญิงในร่างชายจริง ๆ เช่นเดียวกับเวลาสวมบุคลิกเพศชายก็มองออกว่าเก็บซ่อนอีกตัวตนเอาไว้ แต่ถ้าว่าถึงขั้นจะเป็น winner ไหม ส่วนตัวคิดว่าเขายังไม่ถึงขั้นนั้นนะ
Director: Tom Hooper
novel: David Ebershoff
screenplay: Lucinda Coxon
Genre: biography, drama, romance
7.5/10

สรุปผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2016





สรุปผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2016 ครบทุกรางวัลสาขาภาพยนตร์ ไฮไลท์ของงานนี้มีทั้งนอนมาและเซอไพรส์ ไล่ตั้งแต่การกวาดรางวัลสาขาเทคนิคของ Mad Max: Fury Road, หนังไซไฟทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญพลิกล็อกชนะสาขาเทคนิคพิเศษเหนือหนังทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญ, ลูเบซกี้คว้ารางวัลกำกับภาพ 3 ปีซ้อนคนแรกในประวัติศาสตร์, อินาริตูคว้าผู้กำกับยอดเยี่ยม 2 ปีติดต่อกัน, Spotlight ได้ครอง Best Picture และที่ไฮไลท์สำคัญสุดคือ เลิกล้อลีโอกันได้แล้วนะครับ 
อีโมติคอน colonthree
ไปดูรางวัลทั้งหมดกันได้เลยครับ



เรื่องที่เชียร์ได้ best picture นี่มันดีใจจริง ๆ คู่ควรเหมาะสมทุกประการสำหรับ Spotlight


ออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมสองปีซ้อนสำหรับ 'อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู' เรียกว่างานโหมโปรโมทโฆษณาถึงความยากลำบากในการถ่ายทำ The Revenant ประสบความสำเร็จสินะ


ขอแสดงความยินดีกับลีโอด้วยนะครับ ไม่โดนล้อแล้ว อิอิกรรม #ทีมฟาสเบนเดอร์


ส่วนตัวผมเชียร์คนอื่นมากกว่า 'บรี ลาร์สัน' ไม่ว่าจะเป็นชาร์ล็อตต์, เคท, หรือว่าโรแนน แต่ก็ขอแสดงความยินดีกับลาร์สันด้วยละกันเนอะ


ถือว่าค่อนข้างเซอไพรส์พอสมควรเลยที่ 'มาร์ค ไรแลนซ์' เบียดเอาชนะ 'ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน' ที่หลายสถาบันเก็งว่าจะชนะเพราะสมควรแก่เวลา (คือแสดงดีด้วย, เป็นตำนานจาก Rocky ด้วย แล้วมาได้ชิงในจังหวะที่ลงตัว) อย่างไรก็ตาม เราได้ดูไรแลนซ์แสดงใน Bridge of Spies แล้วก็คิดว่าเจ้าตัวเหมาะสมคู่ควรกับรางวัลแล้วล่ะ เล่นนิ่ง ๆ เรียบ ๆ แต่โดดเด่นในทุกซีนที่ปรากฎกาย แถมยังมีวลีติดหูอย่าง "Would it help?"


ที่เห็นเคท วินสเล็ตได้จากสถาบันอื่น ๆ นั่นเพราะว่าอลิเซียไปชิงสาขานำหญิงไง พออลิเซียลงมาสมทบหญิงจึงเรียกว่านอนมาเลยจ้า จริง ๆ นางก็ควรไปชิงนำหญิงน่ะแหละ ฮ่าๆๆๆ ยินดีด้วยครับ


แม้ใจจะเชียร์ Inside Out แต่ก็รู้ดีว่ายากที่แอนิเมชั่นจะชนะรางวัลสาขานี้ ขอแสดงความยินดีกับ Spotlight ด้วยครับ เป็นหนังที่บทดีมาก ๆ อีกเรื่อง


ดัดแปลงเรื่องการเงินเข้าใจยากให้ดูสนุกเข้าใจง่ายแบบนี้ ขอแสดงความยินดีกับ The Big Short ด้วยครับ


ไม่มีเซอไพรส์หักมุมใด ๆ นอนมาทุกสถาบัน จริง ๆ ต้องบอกว่านอนมาตั้งแต่เห็นชื่อเข้าชิงบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้วล่ะ ถือว่าคู่ควรเหมาะสมสำหรับ Inside Out หนึ่งในแอนิเมชั่นที่ดีที่สุดจากสตูดิโอ Pixar ครับ


ขอแสดงความยินดีกับ Son of Saul เพิ่งเขียนรีวิวไปบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้ดูเอาประสบการณ์การชมภาพโคลสอัพ 4:3 เพื่อให้คนดูรู้สึกอึดอัดตลอดเรื่องก็คุ้มแล้วครับ เป็นหนึ่งในหนังค่ายกักกันที่ดีที่สุดเรื่องนึงในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แน่นอนครับ


เป็นหนังที่ชอบที่สุดอันดับสองของปี 2015 สำหรับผมเลย (อันดับหนึ่งคือ Steve Jobs) เชียร์ให้หา Amy มาดูกัน เป็นสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องรางอีกมุมหนึ่งของเอมี่ ไวน์เฮาส์ได้อย่างยอดเยี่ยม


3 ปีซ้อนคนแรกในประวัติศาสตร์รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมสำหรับ 'เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้' (Gravity, Birdman และ The Revenant) เหมาะสมคู่ควรทุกประการ นี่แอบเชียร์ให้เหมาปีหน้าด้วยเพื่อสร้างสถิติสุดโหดกันไปเลย


ช็อคสุดคือคนตัดต่อหนังแอ็คชั่นแมน ๆ แบบ Mad Max: Fury Road เป็นผู้หญิง แต่ก็นั่นแหละหนังเรื่องนี้มันแฝงประเด็นเฟมินิสต์ได้ดีด้วย ดีถึงเบื้องหลังกันเลยทีเดียวยอมจริง ๆ ว่า Mad Max: Fury Road ออกแบบงานสร้างได้สุดยอดมาก ๆ เหมาะสมกับรางวัลแล้วจ้า


Mad Max: Fury Road เหมาะสมแล้วจ้า (ได้ติดกันเลยเว้ย)


นอนมาตั้งแต่เวทีลูกโลกทองคำแล้วล่ะ ขอแสดงความยินดีกับ Ennio Morricone จาก The Hateful Eight ด้วยจ้า


เซอไพรส์มาก Writing's On The Wall ได้เฉยเลย นึกว่าเลดี้ กาก้าจะนอนมาละ ป.ล. อยากดู The Hunting Ground นะ


เรียกว่าเซอไพรส์มากกกกกกกกกกกกกกกกกกกก มีแต่คนเขาเก็ง Star Wars: The Force Awakens หรือไม่ก็เรื่องอื่นกัน แต่สำหรับ Ex Machina นี่บอกเลยว่านอกสายตามาก ๆ เป็นม้ามืดสำหรับปีนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วถือเป็นเรื่องดีที่หนังทุนแค่ 15 ล้านเหรียญสามารถชนะรางวัลสาขาเทคนิคพิเศษด้วยคุณภาพของงานที่ดูสมจริงกลืนไปกับเนื้อเรื่องที่เป็นไซไฟของหนัง แถมบทหนังยังยอดเยี่ยมมาก ๆ ด้วย อยากเชียร์ให้ดูกันครับ


ถ้าพี่จะแต่งหน้าทำผมกันได้ชวนนึกถึงโลกดิสโทเปียขนาดนี้ก็เอาไปเถอะครับ Mad Max: Fury Road


เก็งพลาดนิดหน่อย เพราะคิดว่า The Revenant จะได้บันทึกเสียงยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามขอแสดงความยินดีกับ Mad Max: Fury Road ด้วยครับ


ลำดับเสียงยอดเยี่ยมตกเป็นของ Mad Max: Fury Road กวาดรางวัลสาขาเทคนิคกลับบ้านเพียบจริง ๆ