วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

14หนังดัดแปลงเจ้าหญิงดิสนีย์ที่คุณไม่ควรพลาด




มานับถอยหลังหนัง14 เรื่ิงกันเลยดีกว่า!!!!!!!!




14 | Once Upon a Time (2011 TV Series) (ยำเจ้าหญิงดิสนี่ย์)

"ยำหนังผีเขาก็เรียกกันว่า Scary Movie แต่สำหรับซีรีส์เรื่องนี้คงจะเป็นยำเทพนิยายสมัยใหม่ก็ว่าได้"

Once Upon a Time เป็นเรื่องราวของ 'เอ็มม่า' สาววัย 28 ปีที่ทำอาชีพเป็นคนออกเงินกู้ให้กับนักโทษที่ต้องการประกันตัว เธอใช้ชีวิตเพียงลำพังและสู้เพียงคนเดียวมาโดยตลอด จนแล้ววันหนึ่งสิ่งที่ทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไปคือวันที่ 'เฮนรี่' ลูกชายวัย 10 ขวบที่เธอยกให้คนอื่นเลี้ยงไปตั้งนานมาแล้วได้ออกตามหาเธอและเชื่อว่าเธอเป็นลูกของสโนไวท์ เรื่องราวที่น่าปวดหัวจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา

ถ้าใครเป็นคนชอบดูการ์ตูนเทพนิยายแฟนตาซี และอยากหาความบันเทิงแบบคลายเครียดดูแล้วล่ะก็เราขอแนะนำเรื่องนี้ เพราะซีรีส์นี้เป็นเหมือนการนำความฝันวัยเด็กของเด็กสาวผู้หญิงอันแสนน่ารักมายำซะไม่เหลือเค้าเดิมเลย เพราะในแต่ละซีซั่นจะแบ่งธีมกันออกไปเช่นซีซั่นแรกจะเป็นเรื่องราวของสโนไวท์ ซีซั่นถัดมาก็จะเป็นเจ้าหญิงนิทรา หรือแม้กระทั่ง Frozen เอลซ่าของเราก็มา ทุกเรื่องทุกตอนถูกนำไปยำผสมคลุกเคล้าไว้ในเรื่องราวของความเป็นจริง ทำให้เรารู้จักอยากติดตาม และ เฝ้ารอมันอย่างใจจดใจจ่อ


13 | Snow White and the Huntsman (2012) (อิงจาก Snow White)

ถ้าไม่แปะป้ายว่าเป็นหนังสโนว์ไวท์มันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้นะ เพราะภาพรวมของหนังมันก็แนวแอ็คชั่น/ผจญภัย/แฟนตาซีตามสไตล์หนังฟอร์มยักษ์ขายงาน cg โชว์เอฟเฟคตระการตา แต่พอแปะป้ายว่าเป็นสโนว์ไวท์แล้วรู้สึกหนังพังไปเยอะเลย โดยเฉพาะคริสเต็น สจ๊วตในบทสโนว์ไวท์นี่คือไม่ใช่เลย การแสดงพินาศมาก โหวงเฮ้งไม่เหมาะกับบทเจ้าหญิงทั้งในด้านผู้ถูกกระทำและผู้นำกองทัพ ไหนจะเอกลักษณ์ของสโนว์ไวท์ที่ถูกจับมาใส่ในหนังแบบเสียไม่ได้ (แอปเปิ้ลอาบยาพิษ, คนแคระทั้งเจ็ด)

หนังเล่าเรื่องของ 'พรานป่า' (Chris Hemsworth) ได้รับคำสั่งจาก 'ราเวนน่า' (Charlize Theron) ราชินีผู้ชั่วร้ายให้ไปพาตัว 'สโนว์ไวท์' (Kristen Stewart) ออกมาจากป่ามนต์ดำ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาได้ช่วยเหลือสโนว์ไวท์ตามหา 'เจ้าชายวิลเลี่ยม' (Sam Claflin) เพื่อรวมกองทัพปราบราชินี

จริง ๆ ผมชอบไอเดียการหยิบเอาสโนว์ไวท์มาทำเป็นหนังแอ็คชั่นแนว sword and shield นะ (ดาบและโล่) แถมยังผสมสไตล์ sorcery (เวทมนตร์) ด้วยตัวละครราชินีผู้ชั่วร้้ายอีก แต่พอมาทำเป็นหนังทุนสร้างใหญ่โต 170 ล้านเหรียญกลับทำออกมาได้ไม่ถึงขั้น ไม่รู้ว่างบไปหมดที่ cg เวทมนตร์หรือเปล่าเลยทำให้ความอลังการของฉากรบไม่สมราคาทุนสร้างเท่าไร เราแนะนำเรื่องนี้ให้รู้จักและบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งหนัง blockbuster ของฮอลลีวูดก็เคยเอาเทพนิยายมาทำอะไรแบบนี้ละกัน


 12 | Ella Enchanted (2004) (อิงจาก Cinderella)

หนังน่ารักมากกกกกกกกก ดูเป็นหนังสำหรับเด็กมากกกกก แอนน์ แฮทธาเวย์น่ารักเว่อร์ เห็นแล้วใจละลายเลย เนื้อเรื่องจริง ๆ ค่อนไปทางดาร์คพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นพรวิเศษที่ทำให้นางเอกต้องทำตามคำสั่งทุกอย่างซึ่งหนังก็ทำให้เป็นเชิงตลกเสียมากกว่า และเป็นหนังที่พูดถึงแผนการลอบสังหารว่าที่พระราชาคนใหม่แต่กลับไม่รู้สึกถึงความรุนแรงในภาพที่เล่าออกมา โดยภาพรวมแล้วหนังน่ารักดูสนุกและแอนน์ก็มีสเน่ห์อย่างมาก แต่ถ้าถามว่าใกล้เคียงจะเรียกว่าเป็นซินเดอเรลล่าแค่ไหนก็คงต้องบอกว่าดัดแปลงเยอะพอสมควร

'เอลล่า' (Anne Hathaway) ได้รับพรวิเศษ/คำสาปให้เธอว่านอนสอนง่ายดังนั้นเธอจึงเชื่อฟังคำสั่งทุกอย่างชนิดไม่สามารถขัดขืนได้เลย หลังจากแม่ของเธอเสียชีวิต เธอต้องอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงที่พาสองลูกเลี้ยงมาอยู่ด้วย เธอได้พบกับ 'เจ้าชายชาร์' (Hugh Dancy) โดยบังเอิญและในการเดินทางเพื่อแก้คำสาปนั้นเธอได้เพื่อนร่วมทางเป็นเจ้าชายชาร์และเอลฟ์ที่มาร่วมบุกแดนยักษ์ และต่อสู้กับอาจอมชั่วร้ายที่หวังยึดอำนาจจากเจ้าชายชาร์

หนังมีบางมุมที่แอบคล้าย Ever After คือเจ้าชายที่ไม่สนใจจะครองราชย์กับนางเอกที่คอยบอกให้เขาเห็นประโยชน์ของการใช้อำนาจในทางที่ถูกที่ควร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายบทของแอนน์ แฮทธาเวย์ที่ตัวเธอแสดงใน The Princess Diaries คือเป็นคนธรรมดาที่ไม่สนใจเป็นเจ้าหญิงจนเมื่อตระหนักได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากตำแหน่งอย่างไร


11 | Aquamarine (2006) (หยิบยืม The Little Mermaid) 

    เรื่องราวของ 'แคลร์' (Emma Roberts) และ 'เฮลลี่' (Joanna Levesque) สองสาวเพื่อนรักคนสนิทในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน เฮลลี่ต้องย้ายครอบครัวไปอีกเมืองหนึ่งซึ่งมันเป็นแย่มาก ทั้งคู่จึงหวังแค่เพียงจะมีเรื่องราวอะไรสักอย่างที่ทำให้เธอไม่ต้องแยกจากกัน และแล้วในคืนหนึ่งซึ่งเป็นคืนที่มีพายุพัดคลื่นลูกใหญ่เข้าฝั่ง แคลร์และเฮลลี่ก็พบกับ 'อความารีน' (Sara Paxton) เงือกสาวที่มาจากใต้ท้องทะเล อความารีนได้ขอความช่วยเหลือจากแคลร์และเฮลลี่ให้ช่วยเธอตามหาชายในฝันของเธอภายในสามวัน เพื่อแลกกับความปรารถนาอะไรก็ได้ให้เป็นจริง และจากนั้นพรวิเศษของเหล่าเด็กสาวทั้งสามคนก็เริ่มต้นขึ้น

   อความารีนเป็นเหมือนเจ้าหญิงเงือกที่ต้องการหารักแท้เพื่อขัดขวางความคิดพ่อที่จะจับเธอแต่งงาน ก็แอบคล้าย The Little Mermaid หน่อยนึงนะ แต่ครั้งนี้เจ้าหญิงเงือกของเราไม่จำเป็นต้องแลกเสียงกับขา แต่เรื่องนี้เจ้าหญิงเงือกของเรามีขาเป็นของตัวเอง แต่จะสามารถใช้ขาได้ตอนกลางวันและห้ามให้ขาเปียกไม่เช่นนั้นหางเธอจะโผล่ ดังนั้นแคลร์และเฮลลี่จึงต้องช่วยทำให้ความปรารถนาของอความารีนเป็นจริง เพื่อแลกกับพรตามปรารถนา ดังนั้นสองสาวจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ 'เรย์มอนด์' (Jake McDorman) ชายหนุ่มเซฟการ์ดสุดหล่อมาตกหลุมรักเงือกสาวแสนสวย ไม่ว่าจะเป็นการจับเธอแต่งตัวสวย ๆ ทำเหตุการณ์แสร้งทำให้เกิดเหตุให้ได้เจอกันโดยบังเอิญ จากสถานการณ์จำลองก่อเกิดเป็นมิตรภาพและก่อเกิดเป็นความผูกพัน ไม่ใช่แค่ในทางความรักที่อควาต้องการ แต่มันเป็นการเปิดโลกของสองโลกและรวมเด็กสาวทั้งสามให้ได้รู้จักคำว่ามิตรแท้เป็นยังไง

   เราว่าหนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ดีเลยนะ คือเหมือนวางพล็อตเรื่องทั้งหมดให้คล้ายคลึงกับการ์ตูนเรื่อง The Little Mermaid เลยทีเดียว แต่อาจจะไม่มีแม่มด แต่ในเรื่องนี้มีนางร้ายที่คล้ายแม่มดอยู่ตรงที่แอบรู้ความลับเรื่องขาของอควาและพยายามทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางเธอกับเรย์มอนด์ ในขณะที่นั่งดูก็มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลานะ อาจจะเพราะด้วยความน่ารักของอควาด้วยมั้งเลยทำให้เรารู้สึกว่าเธอเหมาะกับบทนี้แล้วจริงๆ

10 | Ponyo (2008) (แรงบันดาลใจจาก The Little Mermaid)

   'ฮายาโอะ มิยาซากิ' ผู้ให้กำเนิด Ponyo บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก The Little Mermaid แต่มันก็คงเป็นเงือกน้อยผจญภัยเวอร์ชั่น happy ending โลกสดใสไม่ใช่แอนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้าของเงือกสาวที่ยอมเป็นใบ้เพื่อแลกกับการได้เป็นมนุษย์ นอกจากนี้แล้วงานวาดภาพด้วยมือยังทำให้ 'จอห์น ลาสเซทเตอร์' ผู้กำกับ Toy Story ยังต้องทึ่งว่าเขาไม่เคยเห็นการวาดน้ำได้งามขนาดนี้

   ดูจากภายนอกแล้ว 'โปเนียว' เป็นปลาทองว่ายน้ำในทะเลที่บังเอิญได้รับการช่วยเหลือจาก 'โซสึเกะ' เด็กชายวัย 5 ขวบ แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นถึงธิดามหาสมุทรที่อยากกลายร่างเป็นมนุษย์ เธอจึงแอบใช้เวทย์มนต์ของผู้เป็นพ่อแปลงร่างตัวเองโดยหารู้ไม่ว่ามันได้ก่อให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ต่อโลกมนุษย์ ซึ่งมีทางเดียวที่จะหยุดได้ตามความเชื่อดั้งเดิมคือเธอต้องถูกรักโดยมนุษย์อันจะทำให้สูญเสียพลังและเปลี่ยนร่างเป็นมนุษย์ไปตลอดกาล

   แอนิเมชั่นมันมีความเป็นเด็กสูงมากจนผู้ใหญ่วัย 20 ปลาย ๆ แบบเรามาดูแล้วไม่ค่อยอินกับมันสักเท่าไร มุมที่เราสนใจจึงเป็นการเอา Little Mermaid มาดัดแปลงใหม่ให้เป็นเด็กสดใสมากกว่า โดยธีมหลัก ๆ ของทั้งสองเรื่องคือการสูญเสียอะไรบางอย่างเพื่อแลกกับการเป็นมนุษย์ (ยอมเป็นใบ้เพื่อแลกกับการมีขาเหมือนมนุษย์/ยอมเสียเวทย์มนต์วิเศษแลกกับการเป็นคนธรรมดา) เพียงแต่ว่า Ponyo มันเป็นแอนิเมชั่นเด็กเล็ก จึงไม่มีตัวร้ายแบบแม่มดเออซูล่า เต็มที่ก็มีเพียงพ่อของโปเนียวคอยขัดขวางเพราะไม่อยากให้ลูกไปอยู่กับมนุษย์ที่เขามีความเชื่อว่าเป็นพวกอันตราย (ผู้ใหญ่ในแอนิเมชั่นแฟนตาซีของ Ghibli มักจะปลูกฝังเด็กว่ามนุษย์เป็นพวกอันตรายเสมอ เช่นพ่อของอาริเอตี้ ใน The Secret World of Arrietty)

   อย่างไรก็ตามแม้ความเป็นแอนิเมชั่นเด็กเล็กของ Ponyo จะทำให้ภาพคลื่นยักษ์สึนามิดูเป็นแฟนตาซีลดทอนความรุนแรง แต่ภาพเมืองจมอยู่ใต้น้ำก็คงพอให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงความน่ากลัวจากภัยธรรมชาติได้บ้างไม่มากก็น้อย


9 | Beastly (2011) (อิงจาก Beauty and the Beast)

"คนเราทุกคนล้วนมีความงามในแบบของตัวเอง หากไม่งามที่ภายนอกก็งามที่ภายใน และ ความงามจากภายในคือความงามที่หาใดเปรียบไม่ได้"

'ไคล์' (Alex Pettyfer) ลูกชายของผู้ประกาศข่าวชื่อดังที่เพอร์เฟ็คไปเสียทุกอย่างทั้งรูปร่าง หน้าตาและฐานะ แต่นิสัยกลับตรงกันข้าม ไคล์ชอบดูถูกคนอื่นไม่ว่าจะด้วยหน้าตาหรือฐานะ เขามักใช้คำดูหมิ่นพูดจาเสียดสี เห็นแก่ตัวและไม่มีน้ำใจ จนกระทั่งวันหนึ่งไคล์ก็ดันไปดูถูกและดูหมิ่น 'เคนดร้า' (Mary-Kate Olsen) เด็กสาวลึกลับที่ใครจะไปรู้ว่าเป็นแม่มด ด้วยเหตุนี้ทำให้เคนดร้าร่ายคาถาสาปไคล์ให้มีใบหน้าอัปลักษณ์หัวล้าน ตามตัวและใบหน้าเต็มไปด้วยรอยสักและรอยแผลเป็น เพื่อดัดนิสัยเขาให้รู้ถึงการดูถูกและไม่มีน้ำใจกับคนอื่น สิ่งที่จะถอนคำสาปนี้ได้มีเพียงอย่างเดียวคือภายในฤดูใบไม้ผลิ ไคล์จะต้องหาคนที่รักเขาในสิ่งที่เขาเป็นให้เจอ มิเช่นนั้นเขาจะต้องกลายเป็นอสูรร้ายหน้าตาอัปลักษณ์ไปตลอดชีวิต

พออ่านเรื่องย่อจบปุ๊บก็รู้เลยใช่ไหมว่าเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพล็อตหรือวิธีการดำเนินเรื่องแทบจะเหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่สิ่งที่ดีงามคือพระเอก เอ้ย! การนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อไม่ให้มันดูเหนือจินตนาการมากเกินไป อย่างเช่นเปลี่ยนอสูรที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์ประหลาดเป็นคนที่มีรูปร่างอัปลักษณ์แท
เปลี่ยนเบลล์แม่สาวนักอ่าน ให้เป็น 'ลินดี้' (Vanessa Hudgens) เด็กนักเรียนทุนที่มีปัญหาทางบ้าน เธอเป็นเหมือนคนที่เข้ามาทำให้ดอกไม้แห่งฤดูใบไม้ผลิของไคล์เบ่งบานอีกครั้ง เธอมีเหตุทำให้ต้องเข้ามาอยู่บ้านเดียวกับไคล์ เขาทั้งสองเริ่มทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และขณะหนึ่งไคล์นั้นแอบชอบลินดี้โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว เขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เธอรักเขา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจดหมายรัก การปลูกดอกกุหลาบที่นางเอกอยากจะปลูก เพราะเหตุนี้ ไคล์จึงเริ่มรู้จักคำว่ารัก และเรียนรู้การใช้ชีวิตใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แบบเดิมที่เขาคิด


8 | A Cinderella Story (2004) (อิงจาก Cinderella) 

คงไม่มีใครไม่รู้จักนิทานในตำนานอย่างเรื่อง Cinderella หญิงสาวแสนสวยที่กำพร้าแม่ตอนเด็ก พ่อแต่งงานใหม่กับแม่เลี้ยงมีลูกสาวติดมาด้วย 2 คน ก็ดันใจร้ายกดขี่ข่มเหง อยู่มาวันหนึ่งถูกเชิญไปงานเต้นรำ มีนางฟ้ามาช่วย สุดท้ายได้ครองรักกับเจ้าชายอย่างมีความสุข จบ! Happy Ending นั้นแหละหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน แต่ความแปลกใหม่อยู่ตรงที่มันเป็น Cinderella สมัยใหม่ (ฉบับแอบรักออนไลน์)

'แซม' (Hillary Duff) เด็กสาวธรรมดาคนหนึ่ง ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ในร้านอาหารของพ่อตนเอง แอบรัก หนุ่มแชทนิรนามทางอีเมลล์ เรียนในโรงเรียนเดียวกันและอยากเข้ามหาวิทยาลัยที่เดียวกัน ชื่อว่า 'ออสติน' (Chad- Michael Murray) แต่ในความเป็นความจริงนั้น ออสตินเป็นหนุ่มฮอตอันดับหนึ่งของโรงเรียน ทั้งบ้านรวย เรียนเก่ง แถมยังเป็นกัปตันทีมฟุตบอลของโรงเรียนอีกด้วย

เราคิดว่าทุกคนเคยผ่านประสบการณ์การแชทคุยกับคนแปลกหน้าทางออนไลน์มาบ้าง และบางคนเผลอไปรักฝั่งตรงข้ามซะด้วย (เชื่อว่าในปัจจุบันก็มี) เรื่องนี้ก็เช่นกัน นางเอกกับพระเอก คุยกันผ่านทางอีเมลล์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บอกเล่าเรื่องราวของตนในแต่ละวัน ต่างคนต่างหยอดถ้อยคำหวาน (หวานไปอีก) พร้อมกับการเดินเรื่องให้เหมือนกับในนิทานแบบไม่มีผิดเพี้ยน ทำให้เราตั้งข้อสงสัยและจินตนาการตามว่า เอ่า! ถ้าฉากนางฟ้าเสกเสื้อผ้า รถม้า นี่หนังมันจะทำยังไง ? หรือ เฮ้ย! ฉากรองเท้าแก้วหล่นนี่ มันจะใช้รองเท้าแก้วเหมือนในนิทานรึเปล่า ? เลยทำให้เรายิ้มตามไปกับหนังได้เรื่อย ๆ


7 | Maid in Manhattan (2002) (อิงจาก Cinderella)
ถ้าบอกว่ามันคือการดัดแปลงซินเดอเรลล่า ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นการดัดแปลงที่ดี หยิบพล็อตเจ้าชายเข้าใจผิดในตัวนางซินมาทำเป็นหนังรอมคอมแม่บ้านเลี้ยงเดี่ยวเพ้อฝันถึงชายหนุ่มที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าจะมามองกันที่หัวใจ

เรื่องย่อคือ 'มาริสา' (Jennifer Lopez) เป็นแม่บ้านในโรงแรมหรู วันหนึ่งขณะที่เธอแอบลองชุดของลูกค้าอยู่นั้น 'มาร์แชล' (Ralph Fiennes) ผู้สมัครส.ว. ก็โผล่มาชวนเธอไปเดินเล่นด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเธอเป็นหญิงสาวไฮโซ

ถ้ามองแบบคิดบวกสักหน่อยก็คงบอกว่ามันคือซินเดอเรลล่าฉบับเฟมินิสต์ที่พูดถึงผู้หญิงในมุมการขายความเป็นตัวเองจนผู้ชายตกหลุมรัก แต่หากมองตามจริงแล้วมันก็คือหนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองความเพ้อฝันของหญิงสาว(ในที่นี้คือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว) ทุกอย่างในหนังดูสดใสมีทางออกให้เสมอ และก็จบลงอย่างมีความสุข ให้คนดูเคลิ้มไปกับภาพลวงตาชั่วคราวก่อนจะตื่นมาพบความเป็นจริงว่าหนังมันพาเราหลงไปไกลแค่ไหน

หนังอธิบายกับเราตรง ๆ ถึงแรงจูงใจของแม่บ้านในการไม่บอกความจริงกับส.ว.ว่าเป็นเรื่องของความอยากรู้อยากเห็นว่าสายตาของคนฐานะสูงเช่นเขาเวลามองคนฐานะเดียวกันจะแตกต่างอย่างไรจากเวลาที่มองคนฐานะต่ำกว่า ซึ่งคนทำอาชีพแม่บ้านเช่นเธอนั้นคุ้นชินกับสายตาเหยียดหยาม ตลอดจนสถานะไร้ตัวตนในสังคม อันที่จริงถ้าหยิบประเด็นนี้มาทำเข้ม ๆ ขึ้นสักหน่อยคงจะช่วยเพิ่มน้ำหนักและมิติตัวละครได้เป็นอย่างมากทีเดียว แต่ก็นั่นแหละ มันคงหลุดกรอบความเป็นรอมคอมฟีลกู้ดไปพอสมควร

ค่อนข้างแปลกใจอยู่เหมือนกันที่เห็นเรล์ฟ ไฟนส์ มาปรากฎตัวเป็นพระเอกหนังรอมคอม แต่พอนึกดูดี ๆ แล้วบทของเขาก็ไม่ต่างอะไรกับที่เคยได้รับตลอดมาคือเป็นผู้ดีมีการศึกษา (ไว้เห็นเขาเล่นคอเมดี้คงจะแปลกใจจริง ๆ) ส่วนเจนนิเฟอร์ โลเปซมารับบทแม่บ้านก็ดูพอเชื่อถือได้อยู่

โดยสรุปแล้วถ้าคุณยึดติดกับความเรียลเป็นอย่างมาก ก็ขอแนะนำให้บอกผ่าน Maid in Manhattan ไปได้เลย แต่ถ้าคุณเป็นแฟนซินเดอเรลล่า หรือชอบหนังรอมคอมเป็นทุนเดิม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ควรค่าแก่การเก็บไปเพ้อฝัน


6 | Maleficent (2014) (เบื้องหลัง Sleeping Beauty) 

กาลครั้งหนึ่งในดินแดนห่างไกล ราชาและราชินีทรงให้กำเนิดเทพธิดาตัวน้อยนามว่า 'ออโรร่า' (Elle Fanning) เธอมีผมสีทอง ผิวขาวดั่งหิมะ และเสียงร้องไพเพราะดั่งดนตรีขับขาน ในวันที่เธอเกิดนั้น พระราชาได้เชิญนางฟ้ามา 3 ตน แต่ไม่ได้เชิญนางฟ้าอีกตนหนึ่งมาก็คือ 'มาเลฟิเซนท์' (Angelina Jolie)

Maleficent พูดถึงเรื่องราวและความเป็นจริงของตำนานเจ้าหญิงนิทรา ใครจะไปรู้ว่าความจริงของเทพนิยายเรื่องนี้จะเป็นแบบนี้ ในเทพนิยายเรื่องเจ้าหญิงนิทราที่เรารู้จักกันนั้นคือ เจ้าหญิงองค์น้อยถูกต้องคำสาปจากนางฟ้าชั่วร้ายว่าเมื่อเจ้าหญิงอายุ 16 ปีเมื่อใด เจ้าหญิงจะถูกเข็มปั่นด้ายทิ่มนิ้วจนตาย แต่มีนางฟ้าแสนดีองค์หนึ่งให้พรวิเศษอีก 1 ข้อมาแก้คำสาปให้ แต่ไม่สามารถถอนคำสาปของมาเลฟิเซนท์ได้ เธอจึงแก้คำสาปว่าเจ้าหญิงจะไม่ตายเพียงแต่หลับไปเท่านั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้มีเพียงแค่จุมพิตจากรักแท้เท่านั้น แต่ใครเล่ามันจะไปรู้ว่าเบื้องหลังและความจริงของเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร

เดิมทีแล้วมาเลฟิเซนท์เป็นนางฟ้าที่แข็งแกร่งและสวยงามที่สุดในป่าแห่งเวทมนต์ เธอเป็นนางฟ้าที่สวยและจิตใจดีที่คอยรักษาและปกป้องทุกสิ่งที่อยู่ในป่าแห่งเวทมนต์ แต่แล้ววันหนึ่งชายหนุ่มที่หวังว่าตนเองจะเป็นราชาก็มาทำลายความหวังดีและความรักทั้งหมดของเธอโดนการตัดปีกที่เธอรักและเป็นเหมือนชีวิตของเธอไป ทำให้เธอไม่สามารถบินได้ตลอดกาล ความแค้นนี้ฝังลึกในจิตใจ จนวันหนึ่งเจ้าหญิงน้อยถือกำเนิดขึ้น คำสาปทั้งหมดจึงไปอยู่ที่เจ้าหญิง แต่ด้วยเดิมทีมาเลฟิเซนท์เป็นนางฟ้าที่จิตใจดีและโอบอ้อมอารี บ่อยครั้งที่เธอใจอ่อนและแอบคอบช่วยเหลือเจ้าหญิงน้อยออโรร่าอยู่แทบทุกครั้ง จากความขี้สงสารและความอารีนี้ทำให้ก่อเกิดเป็นความรักขึ้น

แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่มาเลฟิเซนท์เปลี่ยนใจอยากจะถอนคำสาปมันก็สายเกินไปเสียแล้ว ด้วยอำนาจหรือมนตราใด ๆ ก็ไม่อาจลบล้างได้ มีเพียงจุมพิตจากรักแท้เท่านั้นที่จะถอนคำสาปนี้ได้ ด้วยเหตุนี้มาเลฟิเซนท์จึงทำทุกวิถีทางที่จะช่วยชีวิตของเจ้าหญิงออโรร่าให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

บอกได้คำเดียวว่าหนังเรื่องนี้ เป็น The Best ของเราในหมวดนิยายดัดแปลงเลยก็ว่าได้ เป็นหนังที่รวมทุกรสชาติไว้ในที่เดียวกันเลย โดยเฉพาะยิ่งคุณแม่โจลี่เล่นด้วยแล้วไม่มีพลาดเด็ดขาด สิ่งที่ดีงามของเรื่องนี้คือความยิ่งใหญ่อลังการไม่ว่าจะเป็นนักแสดง, การกำกับ, การแสดง, ฉาก ทุกอย่างลงตัวเป็นอย่างดี และที่สำคัญหลังจากที่เราดูหนังเรื่องนี้จบ เราบอกได้เลยว่าเราร้องไห้ ไม่ใช่เพราะซึ้งแบบฉากรักเจ้าชายกับเจ้าหญิง แต่มันเป็นฉากรักระหว่างแม่กับลูก ถึงแม้ว่ามาเลฟิเซนท์จะไม่ใช่แม่ผู้ให้กำเนิด แต่อย่างน้อยเธอก็อยากเห็นเจ้าหญิงน้อยเติบโตมาอย่างปลอยภัยและมีความสุข เพราะสุดท้าย จุมพิตจากรักแท้นั้นไม่ใช่จุมพิตจากความรักแบบหญิงและชาย แต่รักแท้ที่ไม่มีสิ่งใดเทียบได้คือ รักแท้จากผู้เป็นแม่


5 | Mirror Mirror (2012) (อิงจาก Snow White)

"กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงานเลิศในปฐพี" แค่ได้ยินประโยคนี้ทุกคนก็รู้กันหมดแล้วว่าเป็นวลีอันโด่งดังของราชินีผู้ชั่วร้ายจากเทพนิยายกริมม์เรื่อง Snow White แต่ในครั้งนี้งานของทาร์เซ็ม ซิงห์จะพาคนดูไปเปิดโลกใหม่ที่เขาหยิบโครงการเล่าเรื่องของเทพนิยายสโนว์ไวท์มาลำดับและเปลี่ยนแปลงใหม่ (จุมพิตถอนคำสาป, การกบฎชิงบัลลังก์, แอปเปิ้ลอาบยาพิษ) เพิ่มเติมด้วยงานศิลป์และการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ยอดเยี่ยมจนเราต้องทึ่งในความงดงาม

หลังจากพระราชาได้หายสาบสูญไป 'ราชินี' (Julia Roberts) ได้ขึ้นครองอำนาจแทนพร้อมกักขัง 'สโนว์ ไวท์' (Lily Collins) ให้อยู่แต่ในวัง จนกระทั่งเธอแอบหนีไปเปิดหูเปิดตาดูว่าประชาชนเดือดร้อนเพียงไหน และได้พบรักกับ 'เจ้าชายอัลค็อตต์' (Armie Hammer) จนทำให้ราชินีเดือดดาลสั่งให้คนรับใช้พาเธอเข้าป่าไปฆ่าแต่เขาสงสารจึงปล่อยเธอไป สโนว์ไวท์ได้เรียนรู้การต่อสู้จากคนแคระทั้งเจ็ดและพร้อมจะยึดอำนาจอันชอบธรรมกลับคืนมา

ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเราได้อ่านแต่บทหนังโดยไม่เห็นภาพแล้วเราจะรู้สึกเหมือนจูเลีย โรเบิร์ตส์ในตอนแรกที่ต่อต้านหนังเรื่องนี้หรือเปล่า เธอบอกว่าบทหนังเป็นไอเดียที่แย่มาก ๆ แต่เธอก็เปลี่ยนใจกลายเป็นแฟนหนังทาร์เซ็มทันทีที่ได้ฟังความเห็นของเขาราวกับต้องมนต์สะกด เช่นเดียวกับผมที่กลายเป็นแฟนงานศิลป์ของทาร์เซ็มโดยทันทีที่ดูงานของเขาเกือบครบทุกเรื่อง (Immortals, The Fall) และขณะเดียวกันการเรียบเรียงสโนว์ไวท์ในแบบใหม่ของเขามันก็ยังรักษาคอนเซ็ปต์ของเรื่องไว้ได้อยู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นจุมพิตถอนคำสาปที่ถูกบอกเล่าให้เป็นจูบแรกในฝันของผู้หญิงยิ่งขึ้น, ตกหลุมรักกับเจ้าชาย, ราชินีชั่วร้ายกับกระจกวิเศษ, มีคนแคระทั้งเจ็ดช่วยเหลือ, ไฮไลท์แอปเปิ้ลอาบยาพิษ ที่สำคัญคือหนังมันดูมีความเป็นเฟมินิสต์มากขึ้นเยอะเลย เป็นสโนว์ไวท์ที่มีไหวพริบสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอ

ขอชื่นชมทีมกำกับศิลป์และ 'ไอโกะ อิชิโอกะ' นักออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าของรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง Dracula ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความงดงามของหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง ชอบทุกฉากของ Mirror Mirror อย่างตอนราชินีเดินเข้ากระจกวิเศษนี่คือทึ่งการออกแบบศิลป์โลกในกระจกมันช่างงดงามอย่างมหัศจรรย์ทั้งการเลือกสีและการออกแบบกระโจมกลางทะเลเลิศเลอเพอร์เฟ็คต์มาก, เครื่องแต่งกายแต่ละชุดของสโนว์ไวท์และราชินีเจิดจรัสจนผมทึ่งในความวิจิตรช่างคิดช่างออกแบบ รวมถึงเครื่องแต่งกายตัวประกอบทั้งหลายในเรื่องก็เยี่ยมไม่แพ้กัน ทำให้ภาพรวมงานศิลป์ของ Mirror Mirror มีความโดดเด่นน่าจดจำไม่แพ้งานก่อนหน้านี้อย่าง The Fall และ Immortals (และมันเพิ่มความน่าจดจำด้วยการใส่ฉากร้องรำทำเพลงสไตล์หนังอินเดียเป็น end credits ของหนังที่ยอดเยี่ยมด้วยเพลง I Believe In Love)

ไม่แน่ใจว่าตอนหนังฉายมันถูกโปรโมทไปทางคอเมดี้จ๋าหรือเปล่า แต่ภาพรวมของหนังมันไม่ได้คอเมดี้เอาเป็นเอาตายขนาดนั้น มีบางฉากที่เราหลุดขำไม่คิดว่าหนังจะกล้าเล่นอยู่บ้าง และการแสดงของจูเลีย โรเบิร์ตส์ก็ดูเป็นราชินีชั่วร้ายแบบหนังตลกมากกว่าหนังดราม่า เช่นเดียวกับเจ้าชายที่ไม่ได้มีมาดขรึมแต่ถูกจับมาเล่นเป็นตัวตลกหลายต่อหลายฉาก(โดยเฉพาะฉากต้องคำสาปที่เล่นใหญ่ได้เกินค่าตัวอย่างมาก) คงจะมีเพียงความงามของลิลี่ คอลลินส์ในบทสโนว์ไวท์เท่านั้นที่ผู้กำกับจับขึ้นหิ้งไม่ลงมาปะปนเล่นตลกกับตัวละครอื่น ๆ


4 | The New World (2005) อิงจาก Pocahontas 

จากประวัติศาสตร์จริงที่หลายคนได้รู้จักผ่าน Pocahontas เวอชั่นดิสนี่ย์ มาสู่งานจากผู้กำกับสายศิลป์จัดอย่าง 'เทอร์เรนซ์ มาลิค' (ผกก. The Tree of Life, Days of Heaven) ที่เน้นอิงประวัติศาสตร์มากกว่าอิงแอนิเมชั่นเรื่องนั้น โดยหนังเป็นดราม่าเกี่ยวกับนักสำรวจชาวอังกฤษ 'จอห์น สมิธ' (Colin Farrell), การกระทบกระทั่งกันระหว่างชนเผ่าอินเดียนแดงและชาวอาณานิคมอังกฤษในยุค 1700s, และความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นของเขากับ 'โพคาฮอนทาส' (Q'orianka Kilcher) เจ้าหญิงของชนเผ่า

เทอร์เรนซ์ มาลิคเป็นผู้กำกับที่สไตล์แบ่งคน คือถ้าไม่รักมากก็ยี้มากไปเลย ยิ่งผลงานครึ่งหลังอาชีพของเขานั้นเข้าใกล้แนวกวีภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังเป็นกวีภาพที่มักหาจุดลงให้หนังจบยังไม่แม่นเท่าไร (แม้แต่เรื่องที่ผมรักมากอย่าง The Tree of Life ยังขาดๆหายๆพอหนังมาองก์ของฌ็อน เพนน์)

The New World นั้นก็ไม่ต่างกัน ชั่วโมงแรกของหนังนั้นอาจเป็นหนึ่งในสุดยอดฝีมือกำกับของ ผกก.เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเส้นเรื่องชาวอาณานิคมสำรวจธรรมชาติรอบ ๆ หรือการที่จอห์น สมิธได้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกับเขาโดยสิ้นเชิง จังหวะเล่าเรื่องของหนังในช่วงที่สมิธอยู่กับชนเผ่าและค่อย ๆ สานความสัมพันธ์กับโพคาฮอนทาสนั้นให้ความรู้สึกล่องลอยดื่มด่ำเหมือนอยู่ในฝัน จนชวนให้เราได้รู้สึกถึงวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมธรรมชาติของชนเผ่าได้อย่างลึกซึ้งมาก

โคลิน ฟาร์เรลล์เข้าถึงบทบาทได้อย่างมืออาชีพ แต่ที่เหนือยิ่งกว่าเขาคือการปรากฏตัวของดาราหน้าใหม่อย่าง 'คิว โอเรียนก้า คิลเชอร์' ในบทโพคาฮอนทาส ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องแรกของเธอด้วยอายุเพียง 14 ปี แต่เธอก็สามารถสร้างตัวละครในประวัติศาสตร์นี้ให้มีเลือดเนื้ออย่างสมบูรณ์ได้ เธออาจจะเป็นนักแสดงที่เหมาะที่สุดที่มาลิคเคยร่วมงานด้วย เพราะไม่ว่าจะใบหน้าหรือภาษาท่าทางของเธอนั้นเข้ากับสไตล์ภาพไหลลื่นของผกก.มากจริง ๆ

เมื่อหนังเริ่มเล่าเกินเรื่องของชนเผ่า (คือเลยตอนจบของเวอชั่นดิสนี่ย์) หนังก็มีการหลุดสไตล์ชวนฝันที่ผ่านมาบ้างเพราะมันต้องเริ่มยึดติดกับเส้นเรื่องจริงของประวัติศาสตร์มากขึ้น ซึ่งมาลิคเองก็ไม่ใช่นักเล่าเรื่องแนวตรงไปตรงมาอย่างที่เคยทำได้ในหนังสองเรื่องแรกเขาตอนยุค 70s อีกแล้ว แต่ถึงหนังจะเริ่มหลุด ๆ ไปบ้าง องก์สามก็ยังมีการแสดงของนางเอกให้เราอยากติดตามเรื่องราวของโพคาฮอนทาสไปเรื่อย ๆ จนจบ


3 | Enchanted (2007) (ดัดแปลงจาก Snow White มาทำใหม่ผสมเจ้าหญิงดิสนี่ย์คนอื่นเช่น Cinderella และ Princess Aurora อีกเล็กน้อย) 

"หากพูดถึงเทพนิยายที่มีนางฟ้าตัวจิ๋ว เจ้าหญิงเสียงไพเราะ พูดคุยและสื่อสารกับสัตว์นานาชนิดได้ ใคร ๆ ก็ต้องคิดว่ามันควรจะอยู่ในโลกแห่งการ์ตูนจริงไหม? แต่ถ้ามันดันเกิดขึ้นในชีวิตจริงล่ะ"

Enchanted เป็นเรื่องราวของหญิงสาวผู้เลอโฉมมีผิวพรรณที่ขาวผุดผ่อง เสียงพูดและร้องอันไพเราะเสนาะหู ผู้ซึ่งปรารถนาจุมพิตจากรักแท้ เธอมีนามว่า 'จีเซล' (Amy Adams) อาศัยอยู่ในเมืองเวทมนต์แอนดัลเลเชีย เธอตกหลุมรักและกำลังจะแต่งงานกับเจ้าชาย 'เอ็ดเวิร์ด' (James Marsden) แต่ราชินีซึ่งเป็นแม่มดใจร้ายเกิดกลัวว่าเจ้าชายที่เป็นลูกเลี้ยงของเธอจะแต่งงานและครอบครองบัลลังก์เพียงคนเดียว เธอจึงกีดกันทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและจีเซลได้แต่งงานกัน และในวันแต่งงานของจีเซลและเจ้าชายนั่นเอง แม่มดใจร้ายก็ปลอมตัวเป็นหญิงชราหลอกล่อจีเซลไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นบ่อน้ำแห่งห่วงมิติที่เชื่อมโยงระหว่างโลกแห่งเวทมนต์และโลกแห่งความเป็นจริง แม่มดใจร้ายได้ผลักจีเซลลงไปในนั้น และเรื่องราวอันน่าพิศวงก็ได้เริ่มต้นขึ้น

เราว่าเรื่องนี้เป็นเทพนิยายดัดแปลงเรื่องโปรดของเราอีกเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ เราว่ามันแปลกดีเพราะธรรมดาส่วนมากเราจะเห็นนิยายดัดแปลงที่มีเค้าโครงเรื่องเดิม ๆ แค่ปรับให้เข้ายุคสมัยเท่านั้น แต่สำหรับเรื่องนี้มีการนำเอานิทานสองเรื่องอย่างเจ้าหญิงนิทราที่เจ้าหญิงอาศัยในป่า ร้องเพลงและตามหาเจ้าชาย กับ สโนไวท์ มา mix and match ให้เข้ากันอย่างลงตัว เมื่อจีเซลได้เข้ามาอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกมนุษย์นั้นก็ได้เจอกับ 'โรเบิร์ต' (Patrick Dempsey) ทนายพ่อหม้ายหนุ่มผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคดีหย่าร้าง ผู้ซึ่งไม่เชื่อเรื่องรักแท้แบบในเทพนิยาย เธอเห็นจีเซลเป็นหญิงสาวที่แปลกประหลาดแถมทำตัวราวกับออกมาจากเทพนิยาย (ก็เธอออกมาจากเทพนิยาย) เขาจึงรับเลี้ยงดูจีเซลเป็นการชั่วคราวเพื่อรอคนมารับเธอกลับบ้านของเธอ แต่ในขณะที่เขาได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน จีเซลเป็นเหมือนคนเปิดโลกทัศนคติในเรื่องความรักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความโรแมนติกที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน การใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งจีเซลยังเข้าใจและเป็นที่โปรดปรานของลูกสาวเขาอีก แต่เรื่องราวทั้งหมดยังไม่ได้มีความวุ่นวายเท่านี้ ตัวละครในโลกแห่งเทพนิยายเข้ามาอยู่ในโลกความจริงและมนุษย์เราเข้าไปอยู่ในโลกแห่งนิยาย หนังเรื่องนี้ก่อเกิดจากความวุ่นวายแต่สุดท้ายทุกอย่างก็ก่อเกิดเป็นความรัก


2 | Ever After: A Cinderella Story (1998) (อิงจาก Cinderella)
จะเป็นอย่างไรถ้ามีคนเอาซินเดอเรลล่ามาเล่าใหม่แบบไม่แฟนตาซี นางฟ้ากลายเป็นศิลปินระดับโลก รักแรกพบในงานเลี้ยงสุดเพ้อฝันกลายเป็นความสัมพันธ์ของผู้หญิงหัวก้าวหน้ากับเจ้าชายเบื่อพันธะทางสังคม 

ชอบพล็อตของหนังที่ตั้งคอนเซปง่าย ๆ ว่าจะเล่าซินเดอเรลล่าในแบบ "เรื่องจริงไม่อิงแฟนตาซี" และมันก็ดึงขนบทุกอย่างของซินเดอเรลล่าที่เราคุ้นเคยออกมา ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย, เจ้าชายเข้าใจผิดว่านางซินเป็นข้าราชสำนัก, งานเลี้ยงหาคู่วิวาห์, รองเท้าแก้วหลุดหนึ่งข้าง, ฉากสวมรองเท้าแก้ว แต่หนังก็ยังดัดแปลงหลายอย่างให้น่าสนใจขึ้น จนบางทียังเผลอลุ้นว่าหนังจะแหกขนบบางอย่างของซินเดอเรลล่าออกไปบ้าง

ชอบการสร้างตัวละครซินเดอเรลล่า (เวอชั่นนี้คำว่าซินเดอเรลล่าถูกใช้เป็นเพียงฉายารู้กันของแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง) ซึ่งคนดูจะรับรู้ชื่อเธอว่า 'แดเนียล' (Drew Barrymore) ชอบที่เธอกลายเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ เป็นผู้หญิงมีความคิดความอ่าน อารมณ์เดียวกับเวลาดู Pride and Prejudice ที่มีนางเอกเป็นคนหัวสมัยใหม่กว่าคนยุคเดียวกัน และเวอชั่นนี้นางซินไม่ได้มาแบ๊ว ๆ โดนรังแกอย่างเดียว แต่คาแรคเตอร์แก่นเฟี้ยวแมน ๆ ซึ่งชอบนะที่สร้างตัวละครใหม่แบบนี้เลย

ชอบอีกอย่างคือคราวนี้ลูกเลี้ยงไม่ได้ร้ายทั้งสองคน ที่ชอบเพราะลึก ๆ เราเชื่อว่าแม้ลูกสาวสองคนจะได้รับการสั่งสอนอบรมมาแบบเดียวกันแต่มันก็ยังมีความต่างกันได้ มันอยู่ที่กระบวนการคิดไตร่ตรองของคนเรา พูดง่าย ๆ ว่ายังมีจิตสำนึกมาเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะกำหนดให้เราเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งที่รู้สึกว่าผิด

ชอบที่ซินเดอเรลล่ากลายมาเป็นคนเปิดหูเปิดตาทัศนคติทางการปกครองของเจ้าชาย (Dougray Scott) มันช่วยเพิ่มมิติความสัมพันธ์ของคู่นี้ได้มากยิ่งกว่าซินเดอเรลล่าเวอชั่นอื่นเท่าที่เคยดูมา และมันยังเสริมน้ำหนักสถานะทางสังคมที่เจ้าชายมองว่าเป็นพันธะแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เขามองซินเดอเรลล่าแตกต่างไปจากผู้หญิงคนอื่น

ฉากที่ลุ้นมากที่สุดว่าหนังจะกล้า twist ก็คือตอนงานเลี้ยงที่ซินเดอเรลล่าโดนแม่เลี้ยงป่าวประกาศว่าเป็นเพียงคนรับใช้ ซึ่งเจ้าชายมีทางเลือกว่าจะแต่งงานกับเธอเหมือนเดิมแม้รู้ว่าไม่ใช่ข้าราชสำนัก แต่หนังก็ทำเราผิดหวังเล็ก ๆ แม้จะพอเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่เจ้าชายไม่พอใจที่เธอโกหกปิดบังความจริงมานาน จนนางซินต้องวิ่งออกจากวังและรองเท้าหลุดนั่นแหละ (ไม่ต้องมีนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนด้วย ฮ่าๆๆ) ซึ่งโดยรวมแล้วชอบที่มีคนหยิบ Cinderella มาเล่าใหม่แบบนี้


1 | Blancanieves (2012) (อิงจาก Snow White)

ผมชอบการหยิบนิทานพื้นบ้านคลาสสิก หยิบวรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่โดยยังรักษาธีมดั้งเดิม(เป็นการพบกันครึ่งทางของ modernism กับ conservation) ตัวอย่างที่เห็นกันเด่นชัดก็เช่น
1. Romeo and Juliet ที่ถูกหยิบมาตีความใหม่หรือหยิบยืมธีมโศกนาฏกรรมรักมาทำใหม่เป็นงานชิ้นใหม่นับร้อยเรื่อง ที่เรารู้จักกันดีก็เช่น West Side Story, Shakespeare in Love หรือแม้แต่หนังซอมบี้ที่รักอย่าง Warm Bodies ก็ยังหยิบยืมบางส่วนไปใช้
2. King Lear อีกหนึ่งงานของเช็คสเปียร์ก็ถูกยืมธีมวรรณกรรมไปดัดแปลงใหม่โดย 'อกิระ คุโรซาว่า' เป็นหนังเรื่อง Ran
3. Snow White ในยุคหลังนี่ก็รู้สึกจะได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขนาดมีคนหยิบไปทำหนังแอ็คชั่น Snow White and the Huntsman ซะงั้น ฮ่าๆ

แต่ตอนนี้ผมขอยกย่องการตีความใหม่ของ Pablo Berger ที่กล้าหาญนำ 'สโนว์ ไวท์' มาทำเป็นหนังเงียบขาวดำในยุคที่คนเขาทำหนังภาพสีมีเสียงกันหมดแล้ว!

ทุกคนน่าจะเคยดู 'Snow White and the Seven Dwarfs' กันหมดแล้ว (เคยทำเป็นหนังอนิเมชั่นภาพสี Full Length Feature เรื่องแรกของโลกเมื่อปี 1937 ด้วยครับ) ดั้งเดิมของเรื่องคือ "ราชินีใจร้ายอิจฉาความงามของสโนว์ ไวท์เลยสั่งนายพรานพาเข้าป่าไปฆ่า แต่นายพรานใจอ่อนปล่อยตัวเธอหนีไป เธอไปอาศัยอยู่กับคนแคระทั้งเจ็ด (ที่มีคนนึงไม่ชอบที่เธอมาอยู่ด้วย) เมื่อราชินีใจร้ายรู้ว่าเธอยังไม่ตาย จึงปลอมตัวเป็นหญิงชราเอาแอปเปิ้ลอาบยาพิษมาให้เจ้าหญิงของเรากินจนเป็นเจ้าหญิงนิทราจะฟื้นได้ก็ต่อเมื่อรักแรกมาจุมพิตเท่านั้น"

แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าดั้งเดิมนิทานพื้นบ้านที่กลายมาเป็นเจ้าหญิงดิสนี่ย์เนี่ย ทั้ง Beauty and the Beast, Cinderella, Rapunzel หรืออย่าง Sleeping Beauty เนี่ยเต็มไปด้วยความโหดร้ายหมองหม่น dark side story เลยครับ หลายเรื่องนี่ก็เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ และมันอาจจะถูกนำมาใช้เตือนใจเด็กสาวด้วยการสร้างความหวาดกลัว ก็ไม่รู้ว่าปรับแต่งกันอีท่าไหน ยุคหลัง ๆ ถึงได้เปลี่ยนจากสอนใจหญิงเป็นสอนหญิงให้เพ้อฝันหาแต่เจ้าชาย

กลับมาที่ Blancanieves ของ Pablo Berger
เรื่องย่อก็คือ 'แอนโตนิโอ' สุดยอดมาทาดอร์ในสเปนยุค 1920s (คิดดูว่าแกเนี้ยบแค่ไหน ดัดแปลงใหม่ยังเอาวัฒนธรรมของชาติมาขาย!!) ขณะโชว์ไฮไลท์ก่อนปลิดชีพวัวกระทิงนั้นเขาถูกแฟลชของตากล้องที่มาตามตื๊อเพื่อจะแชะภาพเขา ทำให้เขาพลาดท่าถูกวัวกระทิงพุ่งชนจนเป็นอัมพาต วันเดียวกันนั้นเอง ภรรยาของเขาก็เสียชีวิตในขณะที่คลอด 'คาร์เมน/สโนว์ ไวท์'

แอนโตนิโอแต่งงานกับ 'เอนคาร์น่า' นางพยาบาลใจร้ายที่ทำดีเพื่อหวังจะจับคนรวยแต่พิการอย่างเขา ส่วนคาร์เมนอาศัยอยู่กับย่าโดยที่ไม่เคยเจอพ่อและแม่เลี้ยงของเธอเลย จนกระทั่งย่าของเธอเสียชีวิต เธอจึงได้ไปอาศัยในบ้านของพ่อแท้ ๆ โดยถูกแม่เลี้ยงใจร้ายสั่งห้ามขึ้นไปชั้นสองเด็ดขาด

เอนคาร์น่าไม่ได้ดูแลสามีของเธอเลย ปล่อยทิ้งเขาไว้ที่ชั้นสองและยังแสดงพฤติกรรมน่ารังเกียจใส่เขา ไม่ต้องพูดถึงสถานะของคาร์เมนที่ถูกนำมาเป็นเด็กรับใช้ที่มีสภาพความเป็นอยู่แย่ ๆ นอกจากนี้แม่เลี้ยงใจร้ายยังแอบคบชู้อีกด้วย! สุดท้ายเอนคาร์น่าก็จัดฉากฆ่าสามีเธอเองด้วยการผลักรถเข็นของเขาตกบันได และแม่เลี้ยงใจร้ายก็ล่อลวงให้คาร์เมนไปเคารพหลุมศพพ่อของเธอ โดยหารู้ไม่ว่าชู้รักของแม่เลี้ยงใจร้ายรอดักฆ่าเธอในป่า!!

ทีเด็ดการตีความของเขาก็คือการเลือกหยิบธีมของ Snow White มาดัดแปลงซ้อนกันอีกชั้น โดยให้คาร์เมนถูกฆ่าตายในป่า (และถ้าดูจากการเล่าเรื่องตอนจบ ผมเชื่อว่าเธอถูกข่มขืนด้วยนะ!!) ตรงนี้เป็นการตีความที่แตกต่างออกไปจากต้นฉบับที่นายพรานปล่อยให้สโนว์ ไวท์รอดชีวิต เปลี่ยนมาเป็นให้ถูกฆ่าตายจริง ๆ แล้วใช้จินตนาการก่อนตายเล่าเรื่องการล้างแค้นของเธอ

เรื่องราวหลังจากนี้ คาร์เมนฟื้นขึ้นมาโดยสูญเสียความทรงจำบางส่วน เธอได้รับการช่วยเหลือจากคนแคระคณะสู้วัวกระทิงทั้ง 6 (ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ 7) จนกระทั่งเธอร่วมเดินทางไปสู้วัวกระทิงกับคณะ มีโชว์หนึ่งที่คนแคระถูกวัวกระทิงไล่ยำไม่เหลือมาดมาทาดอร์ แต่กลับถูกอกถูกใจคนดู เธอจึงลงไปสู้วัวกระทิงแทนและกลายเป็นขวัญใจคนดูในที่สุด แน่นอนว่าหนึ่งในคนแคระจะต้องไม่ถูกชะตากับเธอ คอยกลั่นแกล้งเธอและยอมรับตัวเธอในภายหลังเหมือนต้นฉบับครับ ตรงนี้จะเห็นว่าเธอจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของพ่อเธอก่อนเป็นอัมพาต โดยใช้ตัวเธอเองแทนที่พ่อของเธอ

เมื่อสโนว์ ไวท์โด่งดังก็ได้รับการว่าจ้างให้ไปเป็นนักสู้กระทิงสนามใหญ่ ได้ลงนิตยสารยกย่องว่าเป็น 'มาทาดอร์ผู้เลอโฉม' และนั่นก็ทำให้แม่เลี้ยงใจร้ายรู้ว่าสโนว์ ไวท์ยังไม่ตาย แม่เลี้ยงใจร้ายโมโหจึงลงมือฆ่าชู้รักของเธอ และนี่ก็คือจินตนาการเพื่อล้างแค้นนายพรานที่ล่อลวงเธอครับ

ในการโชว์ครั้งสุดท้ายของสโนว์ ไวท์ก็ถูกกลั่นแกล้งยกแรกจากคนแคระที่ไม่ชอบเธอ โดยเขาเปลี่ยนป้ายเป็นวัวกระทิงตัวที่ดุกว่าเดิม ซึ่งเธอก็เอาตัวรอดไปได้จนถูกอกถูกใจคนดูเป็นอย่างมาก และไหนจะแม่เลี้ยงใจร้ายปลอมตัวมาเป็นคนดูมอบแอปเปิ้ลอาบยาพิษให้เธอกินอีก

แอปเปิ้ลอาบยาพิษ คือสัญลักษณ์ของการล่อลวงเธอไปฆ่าในป่า

อย่างไรก็ตามในจินตนาการของเธอก็ได้ล้างแค้นแม่เลี้ยงใจร้ายเรียบร้อย

ฉากจบของหนังเป็นภาพที่เจ้านายของสโนว์ ไวท์ยังหารายได้จากศพเธอ ด้วยการเปิดให้คนเข้ามาจุมพิตผู้เลอโฉมด้วยเรื่องลวงหลอกว่า 'จุมพิตปลุกชีวิต' ซึ่งผมเชื่อว่าการจินตนาการแบบนี้ของเธอก็เพื่อสื่อถึงว่าเธอถูกข่มขืนในป่าโดยชู้ของแม่เลี้ยงใจร้าย

ที่สุดแล้วผมนับถือการตีความ 'สโนว์ ไวท์และคนแคระทั้งเจ็ด' ฉบับนี้มากเลยครับ มันคงเหลือกลิ่นอายความหมองหม่นโหดร้ายของนิทานกริมม์สมัยดั้งเดิม แต่ก็ยังนับว่าเป็นการตีความใหม่ได้อยู่ ที่สำคัญคือในเมื่อเขาเป็น 'สเปน' การดึงวัฒนธรรม 'โชว์สู้วัวกระทิงโดยมาทาดอร์' ที่ชาวสเปนภูมิใจมาใส่ในหนังได้ลงตัวแบบนี้จึงต้องบอกว่าแน่มาก!!





1 ความคิดเห็น:

  1. ดูหนังออนไลน์ หนังHD แนะนำเว็บนี้
    https://www.mastermovie-hd.com/mobile.php?url=https://www.hdmovieupdate.com/

    ตอบลบ